Pixel

วันศุกร์ที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

การปลูกข้าวโพด

ข้าวโพดสามารถเติบโตได้ดีในดินร่วนปนทราย หน้าดินลึก หน้าดินไม่แน่น พื้นที่ไม่มีน้ำท่วมขัง มีความชื้นที่เพียงพอ หากหน้าดินแห้งหรือขาดน้ำ ข้าวโพดจะหยุดเติบโต และเหี่ยวตายได้ง่ายมาก ทั้งนี้ สามารถปลูกข้าวโพดได้ตลอดทั้งปี ขอเพียงให้มีน้ำเพียงพอเท่านั้น บางพื้นที่ เช่น ภาคเหนือ อีสาน นิยมปลูกหลังการเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จ ในช่วงเดือน พฤศจิกายน-ธันวาคม เพราะช่วงนี้ดินยังมีความชื้นอยู่มาก ทำให้ประหยัดน้ำได้มาก แต่หลังการปลูกประมาณ 1-2 เดือน อาจต้องให้น้ำเพิ่ม เพราะช่วงนี้อากาศจะแห้ง และร้อน ทำให้หน้าดินสูญเสียความชื้นได้ง่าย



การปลูก
เตรียมดินด้วยการไถดะลึกประมาณ 15 ซม. เพื่อตากดินให้แห้ง กำจัดวัชพืช และกำจัดไข่หรือตัวอ่อนแมลง โดยตากดินประมาณ 1 สัปดาห์ และหลังจากนั้นให้ทำการไถแปรอีก 1 ครั้ง เพื่อให้ก้อนไถแตกเป็นก้อนเล็ก และทำการตากดินอีกประมาณ 1 สัปดาห์

การปลูกสามารถปลูกเป็นแถวโดยการยก ร่องหรือปลูกหลังการเตรียมดินเสร็จโดยไม่ยกร่องก็ได้ แต่พื้นที่ควรเป็นพื้นที่ที่สามารถระบายน้ำได้ดี น้ำไม่ท่วมขังในกรณีที่ฝนตก ทั้งนี้ การปลูกข้าวโพดนิยมปลูกโดยการยกร่องมากกว่า เพราะง่ายต่อการดูแล การให้น้ำ การให้ปุ๋ย และการควบคุมวัชพืช

การปลูกโดยไม่ยกร่อง ให้ปลูกระยะระหว่างแถวที่ 70 เซนติเมตร ระหว่างต้นที่ 30เซนติเมตร โดยหยอด 2 เมล็ด/หลุม หากเมล็ดงอกทั้งสองเมล็ดให้ถอนเหลือไว้เพียงหลุมละต้น

ส่วน การยกร่อง ใช้วิธีการไถยกร่องสูงประมาณ 30 เซนติเมตร ระยะห่างระหว่างร่องประมาณ 70-80 เซนติเมตร ระยะห่างระหว่างต้นประมาณ 30 เซนติเมตร ยอดเมล็ด 2 เมล็ด/หลุม และให้ถอนต้นอ่อนให้เหลือหลุมละ 1 ต้น เมื่อต้นอ่อนตั้งต้นได้แล้วหรือต้นอ่อนสูงประมาณ 10-20 เซนติเมตร

ก่อนปลูกให้นำเมล็ดมาแช่น้ำประมาณ 30 นาที เพื่อให้ต้นกล้างอกได้เร็ว และกำเมล็ดที่ไม่สมบูรณ์ทิ้ง

การดูแล
การให้น้ำ สำหรับแปลงปลูกที่มีการยกร่องสามารถให้น้ำตามร่องดินเพื่อให้ความชุ่มชื้น แก่ดินก่อนปลูก หลังการหยอดเมล็ดเมื่อเมล็ดงอกแล้ว 1 สัปดาห์ เริ่มให้น้ำตามร่อง โดยให้ที่ความถี่ 1-2 ครั้ง/เดือน โดยขึ้นอยู่กับสภาพความชื้นของดิน ทั้งนี้ในช่วงติดฝักพึงระวังอย่าให้ดินแห้งเป็นดีที่สุด

การใส่ปุ๋ย ให้ใส่ปุ๋ยคอกหรือมูลสัตว์ในอัตราต้นละ 0.3 กิโลกรัม หรือ 2 กำมือ/ต้น ส่วนปุ๋ยเคมีให้ใช้สูตร 20-20-0 โดยการใส่รองพื้นหรือใส่เมื่อเมล็ดงอกแล้วประมาณ 2 สัปดาห์ ในอัตรา 50 กิโลกรัม/ไร่ และให้สูตร 12-12-24 ในอัตราเดียวกันในช่วงก่อนติดฝัก

การกำจัดวัชพืช ให้ทำการถอนวัชพืชเป็นระยะ 1 ครั้ง/เดือน หลังเมล็ดงอกแล้ว และสามารถยึดได้เมื่อต้นข้าวโพดโตจนสามารถคุมดินได้แล้ว

โรค และแมลง ที่มักพบ ได้แก่ โรคราน้ำค้าง ซึ่งสามารถกำจัดด้วยการฉีดพ่นไตรโคเดอร์มา นอกจากนั้นมักพบหนอนเจาะลำต้นหรือหนอนเจาะฝักที่ชอบเจาะกินก้านฝัก แกนฝักหรือเมล็ดอ่อนของข้าวโพด ทั้งนี้ สามารถป้องกัน และกำจัดด้วยการใช้ฉีดพ่นแบคทีเรียบีที

การเก็บเกี่ยว
ข้าวโพดข้าวเหนียวจะสามารถเก็บผลได้โดยสังเกตุที่ใยไหมมีสีน้ำตาล เมื่อบีบที่ปลายฝักจะยุบตัวง่าย ซึ่งจะมีอายุการเก็บเกี่ยวในช่วง 55-65 วัน ทั้งนี้การเก็บเพื่อความแน่ใจควรสุ่มเก็บในแปลงประมาณ 2-3 ฝัก ในจุดต่างๆของแปลงเสียก่อน หรือเปิดดูเมล็ด หากเมล็ดมีลักษณะอวบเต็มไม่มีช่องว่างระหว่างเมล็ดก็สามารถเก็บผลผลิตได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น